บนบริบทของวิถีชีวิตในมุมมองของความเพ้อฝันหลายคนมักหยิบยกเอากล่าว ปรัชญา หรือแนวคิด ที่เรียบง่าย มาอธิบายถึงชีวิตที่มีความสุข หลายครั้งเราได้เห็นการหยิบยกเอาความ เรียบง่ายเป็นแก่นสาร ความไม่มี คือสิ่งที่ปรารถนา คืออุดมคติ

แต่ในความเป็นจริงในขณะที่สังคมเคลื่อนที่ไปด้วยปัจจัยหลากหลายรูปแบบไม่ใช่แค่ 4 อย่าง อย่างที่เราสั่งสอนกันมา เมื่อได้เรียนรู้ก็จะรู้ว่าชีวิต ไม่เคยง่าย เพราะชีวิตยิ่งยาก เราก็จะได้เรียนรู้ และด้วยความยากที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆนี้ต่างหากเป็นสิ่งที่หล่อหลอมตัวเราให้เราเป็นเรา หาใช่ความเรียบง่าย

บททดสอบของชีวิตที่ผ่านเข้ามามักจะเพิ่มความยาก ไม่ใช่แค่วิธีการจัดการปัญหา แต่หลายครั้งคือปัญหาเดิมที่ซับซ้อนมากขึ้น ในตอนเด็กเราอาจเพียงแค่ต้องจัดการความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัว แต่โตขึ้นเราต้องเรียนรู้ที่จัดการ และจัดวาง เรียบเรียง ความสำคัญกับเพื่อนเรียนในห้อง และค่อยๆแตกแยกย่อย ไขว้กันด้วยเวลาและเหตุการณ์ เพื่อสร้างสถานการณ์ ผลิตวิถีของชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ขนานไปกับวัยและอายุ

และเมื่อเราเรียนรู้และเข้าใจความซับซ้อนมากเท่าไหร่ก็เหมือนเรายิ่งจัดการได้ง่าย ฉะนั้น การมีชีวิตให้เรียบง่ายจึงไม่ใช่ความสุข แต่ความสุขมันมาจากการที่เรารู้ว่ามันไม่ง่ายแต่เราสามารถทำมันให้ง่ายได้ต่างหากคือสุขของจริง

ชีวิตคือสิ่งซับซ้อน และยากที่จะเข้าใจ เราทุกคนมีชีวิตที่เป็นรูปแบบของตัวเอง ความรู้สึกของตัวเอง ไม่มีใครรู้สึกแทนกันได้ ทำได้แค่เทียบเคียง แต่ไม่มีทางเหมือนได้เลยเด็ดขาด เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์การรับรู้ของชีวิตที่แตกต่างกัน

และด้วยเหตุเหล่านี้ ความแตกต่างจึงไม่ใช่เรื่องแปลก การไม่แตกต่างสิเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ ยิ่งแตกต่างแปลว่ายิ่งหลากหลาย ยิ่งหลากหลายยิ่งบ่งบอกถึงความอุดมสมบูณณ์

และที่ไม่มีใครเข้าใจชีวิตของเราไม่ใช่สิ่งผิดปกติ มันคือเรื่องธรรมชาติ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีคนบอกว่าเข้าใจเราทุกอย่างนี่สิ ต้องคิดหนักๆว่าเพราะเหตุใด?